สาวออฟฟิศที่เปลี่ยนงานบ่อย อย่าลืมศึกษาเรื่อง PVD
เรื่องมันเริ่มมาจากว่ามีผู้รับคำปรึกษาของแองเจิ้ลอยู่คนหนึ่ง เค้าเบื่องานมากและกำลังจะลาออกจากงาน แต่แค่อีก 1 เดือนก็จะทำงานครบ 5 ปีแล้ว เค้ามาปรึกษากับแองเจิ้ลว่าจะลาออกเลยดีมั้ย…. ทุกคนคิดยังไงคะ
แองเจิ้ลเชื่อว่าสำหรับสาวออฟฟิศหลายๆคนน่าจะคุ้นเคยดีกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund ตัวย่อว่า PVD) เพราะปัจจุบันนี้บริษัทเอกชนหลายแห่งมีการจัดสวัสดิการนี้ให้เพื่อผูกใจพนักงานและตั้งใจให้เป็นทุนแก่พนักงานยามเกษียณ แต่สำหรับคนที่อาจจะยังไม่คุ้นเคย เรามาทำความรู้จัก PVD กันหน่อยนะคะ
PVD คืออะไรกันหนอ
PVD เป็นกองทุนสวัสดิการยามเกษียณประกอบด้วยเงิน 4 ส่วน
(1) เงินที่พนักงานสะสมเข้ามาทุกเดือนผ่านการเลือกหักเงินเดือนในอัตราร้อยละ 2 ถึง ร้อยละ15 ของเงินเดือน เรียกว่าเงินสะสม
(2) ผลประโยชน์ของเงินสะสมนั้นที่ได้จากการนำไปลงทุนในกองทุน เรียกว่าผลประโยชน์เงินสะสม
(3) เงินที่นายจ้างจะสมทบเพิ่มให้ เรียกว่า เงินสมทบ
(4) ผลประโยชน์ของเงินสมทบที่ได้จากการนำเงินไปลงทุนในกองทุน เรียกว่าผลประโยชน์เงินสมทบ
ยกตัวอย่างเช่น น้อง A ทำงานที่บริษัทนึงมา 3 ปี มีเงินเดือน 10,000 บาท และเลือกส่งเงิน PVD สะสมร้อยละ 3 ทุกเดือน น้อง A ก็จะถูกหักเงินจำนวน 300 บาทออกจากเงินเดือนเพื่อนำไปใส่ในกองทุน PVD สมมติได้ผลตอบแทนร้อยละ 5 ต่อปี ดังนั้น 300 บาทก็คือเงินสะสม และ 15 บาทคือผลประโยชน์เงินสะสม ถ้าบริษัทของน้อง A สมทบให้ในอัตราร้อยละ 5 บริษัทก็จะให้อีกเดือนละ 500 บาท 500 บาทนี้ก็จะคือเงินสมทบ และ 25 บาท (สมมติผลตอบแทนร้อยละ 5) ก็จะคือผลประโยชน์เงินสมทบ
ควรจะใส่เงินสะสมใน PVD มากน้อยแค่ไหนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ตาม พรบ. ล่าสุด ซึ่งแก้ไขในปี 2558 บริษัทสามารถเลือกจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนได้ในอัตราร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 15 แต่ได้มีการยกเลิกเงื่อนไขที่บังคับให้บริษัทจ่ายเงินสมทบไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของพนักงาน ดังนั้น ณ ปัจจุบัน อัตราเงินที่บริษัทจะสมทบจึงขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและมีความหลายหลายมาก มีทั้งอัตราเดียวกันทั้งบริษัท เช่น ร้อยละ 5 ทั้งบริษัท อัตราที่ผูกกับอายุงานเป็นขั้นบันได เช่น อายุงานต่ำกว่า 1 ปี ร้อยละ 2 อายุงานเกิน 1 ปี ร้อยละ 3 อายุงานเกิน 2 ปี ร้อยละ 5 หรืออัตราที่ผูกกับเงินสะสม เช่นหากพนักงานสะสมที่ร้อยละ 2 บริษัทก็สมทบให้ร้อยละ 2 หากพนักงานสะสมที่ร้อยละ 3 บริษัทก็สมทบให้ที่ร้อยละ 3 แองเจิ้ลแนะนำว่าสาวๆควรศึกษารายละเอียดเงื่อนไขเหล่านี้จากการสอบถามฝ่าย HR ที่บริษัท และหากบริษัทของสาวๆไม่ได้มีเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบผูกกับเงินสะสม เราก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องสะสมผ่าน PVD มากนัก เพราะเราก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นๆในตลาดได้ ซึ่งก็จะมีอิสระและคล่องตัวกว่า อย่างไรก็ดีการลงทุนผ่าน PVD ก็มีข้อดีในเรื่องวินัยการออมเพราะเป็นการหักเงินออกจากเงินเดือนก่อนที่จะถึงมือเราเลยค่ะ
เปลี่ยนงานบ่อยๆมีผลกับ PVD ยังไงน้า
การออกจากงานมีผลกับ PVD แน่นอน เพราะหลายบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขในการได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ (Vesting Rule) ในกรณีที่ลาออก โดยเงินในส่วนสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสมนั้นเราจะได้รับเต็มจำนวนเพราะเป็นเงินในส่วนของเรา แต่เงินในส่วนที่บริษัทสมทบมาและผลประโยชน์ของเงินสมทบนั้นเราต้องตรวจสอบเงื่อนไขให้ดีเพราะอาจจะกำหนดให้พนักงานได้รับสิทธิตามอายุงาน เช่น อายุงานไม่ถึง 1 ปีได้รับสิทธิร้อยละ 10 อายุงาน 3-5 ปีได้รับสิทธิร้อยละ 50 อายุงานเกิน 5 ปี ได้รับทั้งจำนวน ดังนั้นหากวันนี้น้อง A ลาออก ก็จะได้รับเงินสมทบจากนายจ้างและผลประโยชน์เงินสมทบเพียงร้อยละ 50 นอกจากนี้การเปลี่ยนงานบ่อยยังมีผลในเรื่องของการจ่ายภาษีเงินที่ได้รับจาก PVD ด้วย ปกติแล้ว PVD ทั้ง 4 ส่วนจะได้รับการยกเว้นภาษีหากพนักงานเกษียณโดยมีอายุเกิน 55 ปีและมีอายุสมาชิก PVD เกิน 5 ปี หรือพนักงานเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ แต่หากเป็นการลาออกจากงานก่อนเกษียณ โดยมีอายุงานไม่ถึง 5 ปีจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและต้องนำเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสมมารวมกับฐานเงินเดือนเพื่อเสียภาษี แต่หากมีอายุงานถึง 5 ปี แม้ว่าจะลาออกก่อนเกษียณ ก็จะสามารถได้รับสิทธิเลือกเสียภาษีแบบแยกยื่นได้ซึ่งก็จะทำให้เสียภาษีลดลง
ถ้าจะออกจากงานแต่ไม่อยากเสียภาษี PVD ทำยังไงได้บ้าง
หากพนักงานมีการลาออกจากงาน และไม่ต้องการนำเงินออกจาก PVD ก็สามารถคงเงินไว้ในกองทุนเดิมและรอได้งานใหม่จึงค่อยโอนย้ายเงินไปยังกองทุน PVD ของบริษัทใหม่ได้โดยไม่ต้องเอาเงินออกมา หรือสามารถโอนเงินเข้าไปที่กองทุน RMF ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด วิธีนี้ก็จะทำให้พนักงานไม่ต้องเสียภาษีและคง PVD ต่อไปได้จนถึงเกษียณ
ดังนั้นในกรณีผู้รับคำปรึกษาของแองเจิ้ลเมื่อจะลาออก แองเจิ้ลก็ต้องแนะนำให้เค้าไปเช็คเงื่อนไขต่างๆของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเงินสมทบ และ vesting rule รวมถึงต้องพิจารณาด้วยว่าเธอสามารถคงกองทุน PVD ไว้เพื่อเตรียมย้ายไปที่อื่นได้หรือไม่ ถ้ามีความจำเป็นต้องเอาเงินออกมา การอยู่ให้ถึง 5 ปีเพื่อจะได้สิทธิในการเสียภาษีแบบแยกยื่นก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่าค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้สาวๆก็อย่าลืมไปเช็ครายละเอียด PVD ของบริษัทตนเองนะคะ จะได้มีความรู้ไว้เวลาจะตัดสินใจทำอะไรลงไป เป็นกำลังใจให้ทุกคนมีเงินเกษียณถึงเป้าหมายเร็วๆค่า